วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความไร้เสถียรภาพอาจทำให้ไทยต้องเดินตามหลังเวียดนาม

ความไร้เสถียรภาพอาจทำให้ไทยต้องเดินตามหลังเวียดนาม


หว่าย หวอ เวียด...แปลและเรียบเรียง







ในสถานการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยและลุกลามจนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครฯ เมืองหลวงของประเทศไทยกลายเป็นสนามรบระหว่างคนไทยด้วยกันเองกำลังเป็นภัยคุมคามที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล นักลงทุนชาวต่างชาติ เริ่มขาดความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยจากประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคกำลังถดถอยลงและเสี่ยงที่จะหลุดจากกลุ่มประเทศแนวหน้าในภูมิภาคจนต้องไล่ตามกลุ่มประเทศ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคอย่างเวียดนาม

โต๊ะข่าวเวียดนาม ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา ขอนำเสนอบทความแปลจากภาษาเวียดนามที่ทำการสัมภาษณ์นักลงทุนชาวต่างชาติโดยสำนักข่าว AP เพื่อเป็นอีกมุมมองหนึ่งเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองไทยในปัจจุบันอย่างทันเหตุการณ์

จากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปยังประเทศไทย โดยบางบริษัท หรือกิจการที่มีลักษณะที่ย้ายกิจกรรมอย่างง่ายดายและกิจการประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเบาและภาคการประดิษฐ์เบาก็เริ่มดำเนินการย้ายกิจการออกจากประเทศไทยแล้วและบรรดานักลงทุนระยะยาวก็เริ่มที่จะพิจารณาอย่างระมัดระวังในการทำข้อตกลงใหม่กับรัฐบาลไทย

จากสถานการณ์ขาดความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้ไทยเหลือเพียงแต่ภาพพจน์ที่สวยงามของชายหาดที่ทอดยาวเต็มไปด้วยแสงแดดและรอยยิ้มของประชาชนที่มีความเมตตาปรานี

แต่ภายในช่วงเวลาสามปีมานี้ สถานการณ์ทางการเมืองภายในและการปะทะกันทำให้ภาพพจน์ที่สวยงามอย่างที่กล่าวไปนั้นได้สูญหายไป และปัจจุบันภาพรวมของประเทศไทยปรากฏขึ้นมาเป็นภาพแห่งความยุ่งเหยิง และไร้เสถียรภาพ

นาย Jacob Ramsay นักวิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์คุมความเสี่ยงทางการเมืองของสิงคโปร์ ที่ Control Risks กล่าวว่า บรรดาบริษัทกำลังพิจารณาที่จะทุ่มเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยกันอีกครั้ง โดยทัศนคติของพวกเขาในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย…”

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และกำลังเหมือนถูกผลักเข้าใกล้ปากเหวมากขึ้น เมื่อโรงแรมห้าดาว ศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ และห้างสรรพสินค้าตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่สายอาชีพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้าง GDP ถึง 6% ของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคก็จะฟื้นตัวกลับมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพในประเทศไทย กลับเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นกลับมา

“เรื่องดังกล่าวทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก…” นาย Preston Chang นักลงทุนชาวไต้หวันคนหนึ่งที่ประกอบธุรกิจผลไม้กระป๋องในประเทศไทยกล่าว และเพิ่มเติมว่า “คนไทยเคยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในเรื่องของอัธยาศัยดี และความเป็นกันเอง และประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่เคยได้รับความเชื่อมั่นว่ามีเสถียรภาพทางการเมือง...”

สุดท้าย ทุกอย่างพังทลายไปเพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันน่าเป็นห่วงกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 1970 และ 1992 เสียอีก

นักลงทุนต่างชาติ กล่าวว่า “เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไม่เคยนองเลือดเท่าครั้งนี้และเหตุการณ์ครั้งนี้กำลังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ”

ปัจจุบันชนชั้นชาวนาและแรงงานของไทยได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวทางการเมืองที่มากกว่าเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเสี่ยงในการปะทะกันนอกเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ จะยิ่งมีมากขึ้น และทำให้การจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติของประเทศไทยยากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์เริ่มแย่ลงหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และการประท้วงหลังจากที่ทักษิณถูกศาลตัดสินลงโทษฐานความผิดคดีคอรัปชั่นและลงโทษจำคุกสองปี ในขณะนั้นบรรดานักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นกลับมากับคำตัดสินคดีดังกล่าวแต่ ความเชื่อมั่นนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว

การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกัน ทำให้กรุงเทพมหานครฯ กลายเป็นอัมพาต และการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิที่ทำให้การเดินทางของผู้โดยสารกว่าหนึ่งแสนคนติดขัด



ยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า บริษัทประกอบรถยนต์ General Motors และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นที่เคยลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในนิคมอุตสาหกรรมทาง ภาคตะวันออกของไทยจะตัดสินใจลดกำลังการผลิตหรือไม่ แต่การดำเนินการเพื่อลดกำลังการผลิตตามคำตัดสินดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

นาย Roberto Herrera-Lim นักวิเคราะห์ทวีปเอเชียของบริษัท Eurasia Group กล่าวว่า “เมื่อมองในสถานการณ์ความเป็นจริง ความไร้เสถียรภาพก็จะเสร็จสิ้นลงแต่ไม่มีมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งได้”

“ในด้านของนักลงทุนระยะยาว ความเสถียรภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นักลงทุนได้ให้ ความสนใจมากที่สุด ดังนั้น สถานการณ์ไร้เสถียรภาพที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจลงทุนในระยะเวลา 3 - 5 ปี เช่นเดียวกับการตัดสินใจสร้างโรงงานขนาดใหญ่”

ด้านนาย Andrew Yates ผู้เชี่ยวชาญของ Asia Plus Securities สังกัดธนาคาร Scotland ที่ประเทศไทยได้ประเมินว่า “บรรดาบริษัทให้บริการทางการเงินและการธนาคารกำลังจะย่อกิจกรรมลงมา พวกเขาต้องกระจายพนักงานไปยังหลายจุดเมื่อความรุนแรงในตัวเมืองทวีมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณเห็นภาพเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น คุณจะนึกถึงการอพยพพนักงานจากกรุงเทพฯ ไปยังที่อื่น พวกเขาจะให้พนักงานของพวกเขาอยู่ที่นั้นได้เพียงชั่วเวลาเดี๋ยวเดียว”

นาย Preston Chang ผู้ส่งออกผลไม้และประธานสมาคมนักธุรกิจไทย-ไต้หวัน เปิดเผยว่า แวดวงนักธุรกิจชาวไต้หวันที่ประกอบกิจการผลิตรองเท้าจนถึงกิจกรรมแปรรูปไม้กำลังย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามตั้งแต่ปีที่แล้ว และบริษัทของ Chang คือ Thai Bonanza ก็ได้ย้ายโรงงานไปยังประเทศเวียดนามเมื่อปี 2552 เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในสถานการณ์ทางการเมืองอันไร้เสถียรภาพที่กำลังทวีขึ้นในประเทศไทย

นาย Chang ยืนยันว่า ในปี 2552 บรรดานักธุรกิจชาวไต้หวันได้ทำสัญญาลงทุน หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานและฐานการผลิตต่าง ๆ ที่ประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันการลงทุนดังกล่าวที่ประเทศไทยเหลือเพียง 200 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

พนักงานชาวต่างชาติที่ทำงานด้านการค้าในประเทศไทยที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อคนหนึ่งกล่าวว่า หลาย ๆ บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อย้ายพื้นที่ดำเนินกิจการและได้ย้ำว่า ความเสี่ยงจะยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วัน “กฎหมายและความสงบเรียบร้อยต้องกลับสู่ประเทศไทย หรือประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบที่รุนแรง พวกเราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นภายในสองเดือนข้างหน้าได้”



ที่มา : http://vietnamnet.vn

ไม่มีความคิดเห็น:

รายการบล็อกของฉัน