วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความไร้เสถียรภาพอาจทำให้ไทยต้องเดินตามหลังเวียดนาม

ความไร้เสถียรภาพอาจทำให้ไทยต้องเดินตามหลังเวียดนาม


หว่าย หวอ เวียด...แปลและเรียบเรียง







ในสถานการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยและลุกลามจนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครฯ เมืองหลวงของประเทศไทยกลายเป็นสนามรบระหว่างคนไทยด้วยกันเองกำลังเป็นภัยคุมคามที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล นักลงทุนชาวต่างชาติ เริ่มขาดความเชื่อมั่นกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยจากประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคกำลังถดถอยลงและเสี่ยงที่จะหลุดจากกลุ่มประเทศแนวหน้าในภูมิภาคจนต้องไล่ตามกลุ่มประเทศ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาคอย่างเวียดนาม

โต๊ะข่าวเวียดนาม ศูนย์อินโดจีนศึกษา วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา ขอนำเสนอบทความแปลจากภาษาเวียดนามที่ทำการสัมภาษณ์นักลงทุนชาวต่างชาติโดยสำนักข่าว AP เพื่อเป็นอีกมุมมองหนึ่งเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองไทยในปัจจุบันอย่างทันเหตุการณ์

จากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปยังประเทศไทย โดยบางบริษัท หรือกิจการที่มีลักษณะที่ย้ายกิจกรรมอย่างง่ายดายและกิจการประกอบธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเบาและภาคการประดิษฐ์เบาก็เริ่มดำเนินการย้ายกิจการออกจากประเทศไทยแล้วและบรรดานักลงทุนระยะยาวก็เริ่มที่จะพิจารณาอย่างระมัดระวังในการทำข้อตกลงใหม่กับรัฐบาลไทย

จากสถานการณ์ขาดความมั่นคงภายในประเทศ ทำให้ไทยเหลือเพียงแต่ภาพพจน์ที่สวยงามของชายหาดที่ทอดยาวเต็มไปด้วยแสงแดดและรอยยิ้มของประชาชนที่มีความเมตตาปรานี

แต่ภายในช่วงเวลาสามปีมานี้ สถานการณ์ทางการเมืองภายในและการปะทะกันทำให้ภาพพจน์ที่สวยงามอย่างที่กล่าวไปนั้นได้สูญหายไป และปัจจุบันภาพรวมของประเทศไทยปรากฏขึ้นมาเป็นภาพแห่งความยุ่งเหยิง และไร้เสถียรภาพ

นาย Jacob Ramsay นักวิเคราะห์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์คุมความเสี่ยงทางการเมืองของสิงคโปร์ ที่ Control Risks กล่าวว่า บรรดาบริษัทกำลังพิจารณาที่จะทุ่มเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศไทยกันอีกครั้ง โดยทัศนคติของพวกเขาในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย…”

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และกำลังเหมือนถูกผลักเข้าใกล้ปากเหวมากขึ้น เมื่อโรงแรมห้าดาว ศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ และห้างสรรพสินค้าตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่สายอาชีพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้าง GDP ถึง 6% ของระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคก็จะฟื้นตัวกลับมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพในประเทศไทย กลับเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นกลับมา

“เรื่องดังกล่าวทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก…” นาย Preston Chang นักลงทุนชาวไต้หวันคนหนึ่งที่ประกอบธุรกิจผลไม้กระป๋องในประเทศไทยกล่าว และเพิ่มเติมว่า “คนไทยเคยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในเรื่องของอัธยาศัยดี และความเป็นกันเอง และประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่เคยได้รับความเชื่อมั่นว่ามีเสถียรภาพทางการเมือง...”

สุดท้าย ทุกอย่างพังทลายไปเพียงในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันน่าเป็นห่วงกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 1970 และ 1992 เสียอีก

นักลงทุนต่างชาติ กล่าวว่า “เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ไม่เคยนองเลือดเท่าครั้งนี้และเหตุการณ์ครั้งนี้กำลังทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ”

ปัจจุบันชนชั้นชาวนาและแรงงานของไทยได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวทางการเมืองที่มากกว่าเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเสี่ยงในการปะทะกันนอกเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ จะยิ่งมีมากขึ้น และทำให้การจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติของประเทศไทยยากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์เริ่มแย่ลงหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และการประท้วงหลังจากที่ทักษิณถูกศาลตัดสินลงโทษฐานความผิดคดีคอรัปชั่นและลงโทษจำคุกสองปี ในขณะนั้นบรรดานักลงทุนต่างชาติเริ่มมีความเชื่อมั่นกลับมากับคำตัดสินคดีดังกล่าวแต่ ความเชื่อมั่นนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว

การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกัน ทำให้กรุงเทพมหานครฯ กลายเป็นอัมพาต และการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิที่ทำให้การเดินทางของผู้โดยสารกว่าหนึ่งแสนคนติดขัด



ยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า บริษัทประกอบรถยนต์ General Motors และกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นที่เคยลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในนิคมอุตสาหกรรมทาง ภาคตะวันออกของไทยจะตัดสินใจลดกำลังการผลิตหรือไม่ แต่การดำเนินการเพื่อลดกำลังการผลิตตามคำตัดสินดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

นาย Roberto Herrera-Lim นักวิเคราะห์ทวีปเอเชียของบริษัท Eurasia Group กล่าวว่า “เมื่อมองในสถานการณ์ความเป็นจริง ความไร้เสถียรภาพก็จะเสร็จสิ้นลงแต่ไม่มีมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งได้”

“ในด้านของนักลงทุนระยะยาว ความเสถียรภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นักลงทุนได้ให้ ความสนใจมากที่สุด ดังนั้น สถานการณ์ไร้เสถียรภาพที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจลงทุนในระยะเวลา 3 - 5 ปี เช่นเดียวกับการตัดสินใจสร้างโรงงานขนาดใหญ่”

ด้านนาย Andrew Yates ผู้เชี่ยวชาญของ Asia Plus Securities สังกัดธนาคาร Scotland ที่ประเทศไทยได้ประเมินว่า “บรรดาบริษัทให้บริการทางการเงินและการธนาคารกำลังจะย่อกิจกรรมลงมา พวกเขาต้องกระจายพนักงานไปยังหลายจุดเมื่อความรุนแรงในตัวเมืองทวีมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณเห็นภาพเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น คุณจะนึกถึงการอพยพพนักงานจากกรุงเทพฯ ไปยังที่อื่น พวกเขาจะให้พนักงานของพวกเขาอยู่ที่นั้นได้เพียงชั่วเวลาเดี๋ยวเดียว”

นาย Preston Chang ผู้ส่งออกผลไม้และประธานสมาคมนักธุรกิจไทย-ไต้หวัน เปิดเผยว่า แวดวงนักธุรกิจชาวไต้หวันที่ประกอบกิจการผลิตรองเท้าจนถึงกิจกรรมแปรรูปไม้กำลังย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามตั้งแต่ปีที่แล้ว และบริษัทของ Chang คือ Thai Bonanza ก็ได้ย้ายโรงงานไปยังประเทศเวียดนามเมื่อปี 2552 เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในสถานการณ์ทางการเมืองอันไร้เสถียรภาพที่กำลังทวีขึ้นในประเทศไทย

นาย Chang ยืนยันว่า ในปี 2552 บรรดานักธุรกิจชาวไต้หวันได้ทำสัญญาลงทุน หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานและฐานการผลิตต่าง ๆ ที่ประเทศเวียดนาม ขณะเดียวกันการลงทุนดังกล่าวที่ประเทศไทยเหลือเพียง 200 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

พนักงานชาวต่างชาติที่ทำงานด้านการค้าในประเทศไทยที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อคนหนึ่งกล่าวว่า หลาย ๆ บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อย้ายพื้นที่ดำเนินกิจการและได้ย้ำว่า ความเสี่ยงจะยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วัน “กฎหมายและความสงบเรียบร้อยต้องกลับสู่ประเทศไทย หรือประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบที่รุนแรง พวกเราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นภายในสองเดือนข้างหน้าได้”



ที่มา : http://vietnamnet.vn

เวียดนามกับนโยบายการพัฒนาทางทะเล

เวียดนามกับนโยบายการพัฒนาทางทะเล








ในที่ประชุมครั้งที่ 4 ของคณะกรรมการกลางพรรคเวียดนาม สมัยที่ 10 ได้มีมติเป็น เอกฉันท์ว่าด้วยนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามนับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2020 โดยได้มีการวางแผนว่า จะกระตุ้นให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางทะเลและใช้ทะเลเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้รายได้จากภาคเศรษฐกิจทางทะเลต้องมีส่วนร่วมอยู่ใน GDP ของประเทศ ร้อยละ 53 - 55 และอยู่ที่ร้อยละ 55 - 56 ของรายได้จาก การส่งออกทั่วประเทศ

โดยในระหว่างวันที่ 1 - 8 มิถุนายน 2010 นี้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนามร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ จากทั่วประเทศจะจัดนิทรรศการทางทะเลและหมู่เกาะเวียดนาม ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อยกระดับความรู้ ความตระหนักถึงบทบาทและยุทธศาสตร์ทางทะเลและหมู่เกาะของเวียดนามในกระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาเศรษฐกิจ และการป้องกันประเทศอย่างกว้างขวางและทั่วถึงทุกซอกมุมของสังคมเวียดนาม



ด้านศักยภาพ



จุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ เวียดนามเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลจีนใต้ มีชายฝั่งยาวถึง 3,260 กิโลเมตรและมีเกาะมากกว่า 3,000 แห่ง เขตทะเลของเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ที่มีเขตน่านน้ำกว้างถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับพื้นที่บนบก รูปร่างของประเทศที่เรียวยาวติดชายฝั่งทะเลจึงเป็นจุดแข็งในการพัฒนาระบบการขนส่งทางเรือในกระบวนการเข้าร่วมกับระบบเศรษฐกิจโลก

ทะเลของประเทศเวียดนามขึ้นชื่อด้านความสวยงามและมีทรัพยากรทางทะเลมากมายทั้งทางด้านชีววิทยาและไม่ใช่ชีววิทยา ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาสาขาอาชีพต่าง ๆ ทางด้านทะเลที่แตกต่างกันไป ทะเลเวียดนามจึงมีบทบาที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยลักษณะพิเศษที่มีความหลากหลายทางด้านชีววิทยาของที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ปะการังและหญ้าทะเลที่มีตลอดแนวชายฝั่งจากภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้และโดยรอบเกาะขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ดีของสัตว์ทะเลทุกชนิดจนกลายเป็นแหล่งอาหารที่มีความหลากหลาย

โดยทะเลและหมู่เกาะต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การป้องกันประเทศ และการรักษาสิ่งแวดล้อม บรรพบุรุษชาวเวียดนามมีความผูกพันและอาศัยอยู่กับทะเลมาอย่างยาวนาน โดยคิดเป็นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับพื้นที่ทำมาหากินทั้งหมดของประเทศ

การใช้ผลประโยชน์จากทะเลและหมู่เกาะของเวียดนามนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างมากมาย โดยมีส่วนร่วมใน GDP ของประเทศถึงร้อยละ 48 (สถิติในปี ค.ศ 2005) โดยสาขาอาชีพต่าง ๆ ในภาคเศรษฐกิจทางทะเลประกอบด้วย น้ำมัน สัตว์น้ำ การประกอบเรือ การท่องเที่ยว และการบริการต่าง ๆ ฯลฯ

แต่ควบคู่ไปกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ปัจจุบันการใช้ทะเล ชายฝั่ง และหมู่เกาะต่าง ๆ ของเวียดนามกลับยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความยั่งยืน ขาดการวางแผน และการลงทุนในภาพรวมโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นประเทศชายฝั่งที่จะได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอากาศและปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น



การควบคุมและบริหารทรัพยากรทางทะเลและหมู่เกาะของเวียดนาม



เมื่อเดือนมีนาคม 2008 รัฐบาลเวียดนามได้จัดตั้งกรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนาม สังกัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินการควบคุมและบริหารเขตทะเลและหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยกรมการทะเลและหมู่เกาะตระหนักว่า การใช้ประโยชน์จากทะเลต้องได้รับการสนับสนุนและมีความผูกพันกับกิจกรรมโฆษณา เผยแพร่ข่าวสารเพื่อยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาจุดแข็งและการใช้ทรัพยากรทางทะเลและหมู่เกาะของประทศเวียดนามอย่างคุ้มค่า

โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นพื้นฐานที่สำคัญเพื่อให้กรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนามพัฒนาบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ในการบริหารเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านอากาศและผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสาธารณชน กิจกรรมธุรกิจ ในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคง ปัจจุบันกรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนามกำลังเร่งร่างกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อสนับสนุนการควบคุมและบริหารการใช้ประโยชน์จากทะเลและหมู่เกาะ การวางแผนเพื่อใช้ผลประโยชน์ในระยะยาว การรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเลและหมู่เกาะ สร้างโครงการเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับระบบข้อมูล สารสนเทศทางด้านทะเลและหมู่เกาะที่เหมาะสมกับกลไกการตลาด โดยกรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนามจะเป็นเครื่องมือในการทำงานที่สำคัญเพื่อปรับปรุงกิจกรรมการใช้ทรัพยากรทางทะเลและหมู่เกาะให้เป็นระเบียบเพื่อนำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการควบคุมและบริหารภาคเศรษฐกิจทางทะเล

ในอนาคต กิจกรรมโฆษณาและการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการควบคุมบริหาร การรักษาและพัฒนาภาคเศรษฐกิจทางทะเลและหมู่เกาะเวียดนามจะได้รับการกระตุ้นเพื่อเพิ่มอัตราการพัฒนาภาคเศรษฐกิจทางทะเลและบทบาทของประเทศทางด้านทะเลให้มากยิ่งขึ้น

บนพื้นฐานของการร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างตราให้กับ ภาคเศรษฐกิจทางทะเลเวียดนามกับนโยบายการใช้ทรัพยากรทางทะเลและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น รศ. ดร เหวียน วัน กือ (Nguyen Van Cu) อธิบดีกรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนาม ยืนยันว่า กรมการทะเลและหมู่เกาะเวียดนามพร้อมที่จะเดินเคียงข้างไปกับกระทรวง ท้องถิ่น สมาคม กิจการธุรกิจต่าง ๆ ที่มุ่งเป้าหมายสร้างความร่ำรวยให้กับกิจการจากทะเล และจะดำเนินการเพื่อสร้างตราให้กับภาคเศรษฐกิจทางทะเลเวียดนามให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและเทียบเท่ากับมาตรฐานของภูมิภาคและสากลต่อไป



ที่มา : www.vietnamplus.vn

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ครอบครัวคนเวียดนาม

            ครอบครัวในทัศนคติของชาวเวียดนามนั้นเป็นเหมือนหน่วยมี่เล็กที่สำคัญที่สุดในบรรดาสถาบันทางสังคม เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นขงการเรียนรู้ก่อนที่จะออกมาสู่สังคมส่วนรวม ครอบครัวในสังคมเวียดนามปกติแล้วประกอบไปด้วย พ่อแม่ และลูก แต่บางครอบครัวมี 3 รุ่น 4 รุ่น อาศัยอยู่รวมกันในครอบครัวเดียว อาจะเรียกได้ว่า พื้นฐานของครอบครัวส่วนใหญ่จัดเป็นเป็นครอบครัวในลักษณะครอบครัวขยาย ตามความเชื่อของชาวเวียดนาม กล่าวว่า ถ้าครอบครัวไหนอยู่ร่วมกัน ถึง 4 รุ่น นั้นเชื่อกันว่าเป็นครอบครัวที่มีความสุข อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของชาวเวียดนามเกี่ยวกับครอบครัวตามแบบประเพณีดั้งเดิมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตามระบบทางการเมืองและสังคม

          ลัทธิขงจื้อ ( Nho giáo) มีอิทธิพลต่อ แนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวของชาวเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเกี่ยวกับหลักคำสั่งสอนของขงจื้อนั้นได้ผสมผสานกับความเชื่อเดิมของชาวเวียดนาม จึงทำให้ชาวเวียดนามยอมรับหลักคำสอนดังกล่าโดยง่าย ส่วนเรื่องการประพฤติปฏิบัติในครอบครัวของชาวเวียดนามส่วนใหญ่แล้วมักจะให้ความสำคัญในเรื่องการเคารพผู้ที่อาวุโส มากกว่า และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งหรือละเลยที่จะอุปถัมภ์ผู้ที่ต่ำกว่าด้วยเช่นกัน ในบ้านของชาวเวียดนามพี่น้องต้องอยู่กันอย่างสงบสุข รักใคร่ปรองดอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ความกตัญญู นั้นเป็นศีลธรรมประจำใจมีความสำคัญที่สุดของมนุษย์ เพื่อการตระหนักและสำนึกในบุญคุณ ของ บิดามารดา ที่ให้ชีวิตและเลี้ยงดูมาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
       
            อาจจะเป็นเพราะทัศนคติที่ว่ามองเห็นความสำคัญกับเพศชายและดูหมิ่นดูแคลนเพศหญิง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยาในครอบครัวเวียดนามแบบดั้งเดิมตามหลักคำสอนของขงจื้อในระบบสังคมแบบศักดินานั้นไม่มีความเสมอภาค และถูกจำกัดสิทธิ์ฝ่ายหญิงอย่างมาก โดยฝ่ายหญิงที่เป็นภรรยาจะต้องอยู่ภายใต้โอวาท ของผู้ที่เป็นสามี ส่วนในเรื่องของการแต่งงานและครอบครัวถือเป็นการดำรงและสืบทอดสายตระกูล ดังนั้นผู้ที่เป็นบุตรจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ซึ่งเราจะเห็นได้จากสุภาษิตเวียดนาม บทนี้ “พ่อแม่จับนั่งตรงไหนก็นั่งอยู่ตรงนั้น” ( Đầu con ngồi ấy) ซึ่งจากสุภาษิตกล่าวถึงการเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา นอกจากนั้นยังมีเรื่องของบทบาทและภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของผู้หญิง นั่นก็คือผู้ที่เป็นสะใภ้ จะต้องให้กำเนิดบุตร ให้กับสามี ยิ่งในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเวียดนาม หรือจีน ถ้าภรรยาให้กำเนิดบุตรที่เป็นเพศชาย ยิ่งจะสร้างความพึงพอใจให้แก่คนในวงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก เราคงปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิมไปไม่ได้ในเรื่องนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่วัฒนธรรมการอย่างมีบุตรเพศชายยังคงอยู่คู่กับสังคมเวียดนามเรื่อยมา ในสมัยก่อนถึงกับมีการตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กำเนิดบุตรอย่างไม่เป็นทางการว่า ถ้าภรรยาไม่ได้ให้กำเนิดบุตรที่เป็นเพศชาย ผู้เป็นภรรยาจะต้องยอมให้สามีมีภรรยาน้อย โดยไม่มีสิทธ์ตอบโต้ใดใดแก่ผู้ที่เป็นสามี เนื่องมาจากคุณอาจะทำหน้าที่ภรรยาได้ไม่ดีพอ

            ในบรรดาบุตรทั้งหมด บุตรชายคนโตจะเป็นคนที่สำคัญที่สุด และบุตรชายคนโตจะได้รับมรดก และทรัพย์สินของพ่อแม่หรือ เป็นผู้สืบสายตระกูล บุตรชายคนโตจะมีภาระหนักกว่าบุตรคนอื่นๆ คือ เขาจะต้องเลี้ยงดู พ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่า ในกรณีที่พ่อแม่ได้เสียชีวิตไปก่อน ผู้เป็นพี่จะต้องเลี้ยงดู ผู้เป็นน้องให้เจริญเติบโตจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ และเป็นคนจัดหาคู่ครองให้แก่พวกเขา นอกจากนั้นลูกชายคนโตจะต้องดูแลเรื่องการเคารพหลุมศพบรรพชนและพิธีกรรมการไหว้บูชาบรรพบุรุษของครอบครัวและวงศ์ตระกูล

                  ถ้าเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิมของประชาชนทั่วไป ก็ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัดในหลักคำสั่งสอนมากนัก สิ่งไหนที่ดี ก่อเกิดประโยชน์ เหมาะสมกับเขาเขาก็จะดำเนินตามหลักคำสั่งสอนนั้น เช่น ในครอบครัว ลูกสาวต้องกตัญญู สามีภรรยาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข และช่วยเหลืองานในครอบครัว บุตรชาย บุตรสาว ก็ล้วนมีสิทธ์ได้รับการแบ่งปันมรดกอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าบุตรชายจะได้รับการแบ่งปันมรดกมากว่าแต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับครอบครัวก็มีมากกว่าเช่นเดียวกัน ถ้าครอบครัวไหนไม่มีบุตรชาย บุตรสาวก็จะเป็นผู้รับมรดกและมีสิทธิ์ในการดูแลและจัดการเกี่ยวกับการไหว้บูชาบรรพบุรุษ

                  ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 ปี ในยุคศักดินา ผู้หญิงเวียดนามขาดสิทธิในด้านศึกษา ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และในช่วงเวลาภายใต้ยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ครอบครัวชาวเวียดนามตามแบบฉบับลัทธิขงจื้อ ก็ได้สั่นคลอน แนวคิดและอุดมการณ์แนวใหม่ได้เข้ามาแทนที่ เช่นการได้สิทธิในการศึกษาหาความรู้ การแต่งงานและการเลือกคู่ครอง บนพื้นฐานของความรัก ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น หลังจากทีเวียดนามได้รับอิสรภาพ ในเดือนสิงหาคม ปี 1945 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รับรู้ในสิ่งใหม่ๆ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และ ทัศนคติมุมมองเกี่ยวกับครอบครัวก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ แต่ผู้คนต้องการรักษาและคงไว้ในสิ่งที่สวยงามของระบบครอบครัวแบบดั้งเดิมไว้ และละทิ้งในจุดที่ไม่ดีในเรื่องของผู้หญิงและลูกสาวในระบบครอบครัวเพื่อสร้าง “ครอบครัวที่มีวัฒนธรรมแบบใหม่” ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน มีความเสมอภาคและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน พ่อแม่มีภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนบุตรให้กลายเป็นคนว่านอนสอนง่าย เป็นประชากรที่ดีของสังคม และมีความกตัญญูรู้คุณ มีความรับผดชอบต่อตัวเอง ครอบครัวและสังคม


สนับสนุนการโม้อย่างเป็นทางการ

dunglac.org/

baoninhbinh.org.vn

Báo Dân Trí

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ฮุน เซน กร้าวถ้าทหารไทยไม่ถอนกำลังออกจากวัดแกวสิกขาคีรีสวาระ คุณก็คือผู้รุกราน

เมื่อวานอ่านไปอ่านมาไปเจอ เลยเอามาเก็บไว้ในบล็อก ศิษย์พี่ของผมเขาแปลซะละเอียดยิบเลย



จอมพลสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า ตราบใดที่ทหารไทยผู้รุกรานยังไม่ถอนกำลังออกไปให้หมดจากวัดแกวสิกขาคีรีสวาระของกัมพูชาแล้วละก็ ผมก็จะยังคงกล่าวหาไทยว่ารุกรานกัมพูชา และความสัมพันธ์อันดีก็คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากทหารไทยผู้รุกรานยังคงมีอยู่บนแผ่นดินกัมพูชา

สมเด็จฮุน เซน ได้ตอบโต้รัฐบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน และในเช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ในกำหนดการเยือนชายแดน สมเด็จฮุน เซน กล่าวย้ำในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทหารและเปิดอาคารกองบัญชาการกองพันที่ 422 สังกัดกองพลน้อยที่ 42 ในเขตอำเภอบันเตียยอำปึล จังหวัดอุดอร์เมียนเจ็ย อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนราว 7 กิโลเมตร

สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า ความต้องการของไทยนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะเขากล้าผลักอกทหารของเราในดินแดนของเรา แต่กองทัพของเราไม่ท้อถอยหรอก และถึงตอนนี้ จะไม่อนุญาตให้ผลักอกต่อไปอีกแล้ว

นอกจากนี้สมเด็จฮุน เซน ตอบโต้การแสดงความคิดเห็นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อไทยว่า การเดินทางมายังพื้นที่ชายแดนและการสวมใส่เครื่องแบบทหารของสมเด็จนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เพื่อหวังความได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น และทหารไทยก็ไม่ได้รุกรานกัมพูชาแต่อย่างใด และรัฐบาลไทยจะใช้การปราศรัยของสมเด็จฮุน เซน ชี้แจงต่อองค์การยูเนสโกว่า พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยอย่างชัดเจน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ MCOT เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ว่า ไทยไม่ได้พยายามรุกรานดินแดนกัมพูชาดังที่สมเด็จฮุน เซน ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศแต่อย่างใด การที่พูดว่า ไทยบุกรุกก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นของไทยแล้ว และเราจะชี้แจงต่อองค์การยูเนสโกให้ชัดเจนว่า พื้นที่ที่เกี่ยวข้องนี้ไม่ใช่ของกัมพูชา และการชี้แจงจะมีขึ้นในช่วงกลางปีนี้ และกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอน

สมเด็จฮุน เซน กล่าวชี้แจงในกรณีนี้ว่า ขอให้นายอภิสิทธิ์ ได้โปรดรู้จักฮุน เซน ให้ชัดเจนอภิสิทธิ์กำลังถูกเขากล่าวหาว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีการเกณฑ์ทหาร แต่ขณะนี้กลับมียศร้อยตรี โดยที่ตัวเองไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร

สมเด็จฮุน เซน กล่าวต่ออีกว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตนสวมใส่เครื่องแบบทหาร ทหารนี้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง วันนี้ผมสวมใส่เครื่องแบบทหารคอมมานโดพิเศษ จงอย่าลืมว่า อาชีพเดิมของผมคือ กองกำลังพิเศษ ผมสวมใส่เครื่องแบบทหารเพราะพระมหากษัตริย์พระราชทานแก่ผม ผมจะสวมใส่เครื่องแบบใดก็ไม่ได้ไปเกี่ยวกับคุณเลย ฮุน เซน มีเลือดเนื้อเป็นชาวเขมร สัญชาติเขมรอย่างแท้จริง ที่ประชาชนลงคะแนนให้ความไว้วางใจ เหตุใดนายอภิสิทธิ์ จึงพูดว่า เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ลองให้นายอภิสิทธิ์สวมใส่ดู ลองใส่ดูด้วยตัวเองแล้วติดยศปลอมนั่น แล้วจะกล้าตอบคำถามพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านตัวเองได้หรือไม่?

สมเด็จฮุน เซน กล่าวอีกว่า ตนได้สวมใส่เครื่องแบบทหารมานานแล้ว ใช่ว่าเพิ่งจะมาใส่ตอนที่มาชายแดนแต่อย่างใด เหตุใดเล่าอภิสิทธิ์จึงมาโง่เขลาเอาวันนี้ อย่าได้ว่าฮุน เซน พูดไม่มีสกุลรุนชาติ แต่คุณเองต่างหากที่พูดไม่มีสกุลรุนชาติ ผมจะสวมใส่เครื่องแบบอะไรมันไปหนักอะไรของคุณ ขออย่าได้ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญกัมพูชา และขอบอกอีกว่า ฮุน เซน มีรหัสประจำตัว 000.002 เป็นทหารที่มีรหัสประจำตัว ไม่ใช่ทหารธรรมดา ๆ แต่เป็นผู้จัดตั้งกองทัพอีกต่างหาก ไม่ใช่ทหารที่ถือบัตรหนีการเกณฑ์ทหารแต่อย่างใด

คุณชี้แจงแทรกแซงกิจการของผม ด้วยเหตุนี้ผมจำเป็นต้องพูดเกี่ยวกับเรื่องของคุณ ประเด็นที่ 2 ตามการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ไทยโดยกล่าวอ้างคำพูดของนายอภิสิทธิ์ ที่กล่าวว่า ไม่มีทหารไทยเข้ามารุกรานกัมพูชา อภิสิทธิ์กล้าสาบานไหม สาบานให้ตายทั้งโคตร สาบานให้ฉิบหายทั้งประเทศว่า หากกองทัพไทยได้รุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 หรือไม่? และจงอย่าได้ถือว่า การนำเอาการสาบานมาพูดไม่ได้มาตรฐานนั้นถือว่าไม่ใช่ การสาบานถือเป็นมาตรฐานสากล เพราะทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีก่อนเข้ารับตำแหน่งต้องสาบานตนกันทุกประเทศ และในศาลก็สาบานตนว่า จะขอพูดความจริง และให้ทหารไทยที่มาประจำการในวัดแกวสิกขาคีรีสวาระสาบานเถิด สาบานให้อิทธิฤทธิ์บารมีปราสาทพระวิหารหักคอคุณให้ตายทั้งหมด คุณจะกล้าหรือไม่?

สมเด็จฮุน เซน กล่าวอีกว่า การให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ฮุน เซน เคยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเมื่อไร อภิสิทธิ์ อย่ากลืนน้ำลายตัวเองเป็นอันขาด อภิสิทธิ์บอกว่าจะนำเอาคำชี้แจงของฮุน เซน ไปที่องค์การยูเนสโก อภิสิทธิ์ อย่ากลืนน้ำลายตัวเองและจะต้องนำเอาคำปราศรัยของผมทั้งหมดที่แถลงต่อทหารกองพลสนับสนุนที่ 3 ไปเปิดทั้งหมด อย่าให้ขาดหายไปแม้แต่คำเดียว แม้แต่เสียงไอก็ต้องเขียนในวงเล็บว่า (ไอ) คุณต้องนำไปอย่างจริงจัง เพราะตอนนั้นผมได้กล่าวหาทหารของคุณรุกรานประเทศผมเช่นกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การพูดในนัยที่ว่า ไทยพยายามรุกราน คือเท่ากับเป็นการยอมรับว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นของไทยไปโดยปริยายแล้ว ฉะนั้นพื้นที่ใดก็ตามขอแค่ไทยรุกรานหรือว่าเป็นดินแดนของคุณทั้งหมดอย่างนั้นหรือ? มันหมายความว่าอย่างนั้นหรือ? นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร และมาจากเสียงส่วนน้อย ผมพูดเข้าเรื่องภายในของคุณแล้ว ในเบื้องต้นคุณใช้กลุ่มคนเสื้อเหลืองโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ายึดสนามบินใช้กระบวนการศาลยุติธรรมที่เขาเรียกว่า รัฐประหารตุลาการ ยุบพรรคการเมืองแล้วเคลื่อนไหวดูดกำลังพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ ร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยเสียงส่วนน้อย ขณะนี้คุณกำลังกระจายกำลังพลประมาณ 154 กองร้อย เตรียมรับมือกับสถานการณ์สู้รบกันเอง

สมเด็จฮุน เซน ได้ฝากสาส์นถึงคนไทยด้วยว่า ไม่มีวันไหนที่คนไทย ประเทศไทยแตกแยกกันมากเท่ากับช่วงการบริหารของนายอภิสิทธิ์ และก็ไม่มีวันไหนที่นโยบายการต่างประเทศไทยเลวร้ายเท่ากับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่สำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้มีกัมพูชารวมอยู่ด้วย

สมเด็จฮุน เซน กล่าวต่ออีกว่า อย่าปล่อยมือเป็นอันขาด หากคำพูดของตนถูกนำไปเสนอไม่ถูกต้องขอให้มีการชี้แจงปฏิเสธไปยังสำนักข่าวของคุณหากสื่อนั้นนำเสนอผิดพลาด ต้องแก้ไขหากไม่แก้ไขแล้ว คุณนำคำพูดของผมทั้งหมดไปบรรจุในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ถ้ากล้าคุณก็ไม่ใช่คนแล้ว ถ้าใจเด็ดจริงเอาไปเลย

สมเด็จฮุน เซน กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้เป็นศัตรูกับคนไทยและกองทัพไทยแต่อย่างใด แต่เป็นการตอบโต้ผู้นำเสียงส่วนน้อยของไทยเท่านั้น

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวอ้างของพลโทวีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ที่กล่าวว่า ตนถูกส่งให้มาต้อนรับสมเด็จฮุน เซน เพื่อส่งสาส์นฉบับหนึ่งว่า ไทยยึดมั่นซึ่งการยืนยันของตัวเองเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เกี่ยวกับเรื่องนี้สมเด็จฮุน เซน ระบุว่า พลเอกเจีย ดารา ติดต่อไปยังพลโทวีร์วลิต เพื่อสอบถามว่า หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำเสนอผิดพลาด หรือนายพลผู้นี้พูดผิดว่า พลโทวีร์วลิต ใช้คำพูดแบบนี้กับฮุน เซน และได้มอบสาส์นกับฮุน เซน เรียกร้องพื้นที่ดังกล่าวนั้นหรือไม่? คุณกล้าสาบานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่หักคอคุณให้ตายทั้งเป็นไหม เพราะการพูดจาของคุณนั้นไม่เป็นความจริงเลย

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ไทยไม่เคยรุกรานประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้แนะนำให้พูดความจริง สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า นายสุเทพ ซึ่งเคยได้พบกันที่หัวหินและเคยได้รับประทานแกงคั่วที่เมืองตาเขมา ฮุน เซน พูดความจริง หรือคุณพูดความเท็จ ปัญหามันอยู่ที่ตรงนั้น ผมเคยบอกแล้วว่า ทหารไทยได้รุกรานยึดครองวัดแกวสิกขาคีรีสวาระของกัมพูชาว่าจริงไหม ถ้าไม่จริงขอให้ผมฉิบหาย แต่ถ้าจริงก็ขอให้คุณฉิบหายเช่นกัน คุณกล้ามาสั่งสอนให้ฮุน เซน พูดความจริง แล้วคุณเองละพูดความจริงแล้วหรือยัง?

นอกจากนี้สมเด็จฮุน เซน ยังได้ตำหนิการนำเสนอของสื่อไทยที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาที่ชายแดนพร้อมกับฮุน เซน ในขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในประเทศกัมพูชาด้วยซ้ำ และก็ไม่รู้ด้วยว่าท่านอยู่ที่ไหนด้วยในขณะนี้ “ถ้าจะพูดเรื่องข่าวกรองของไทยมันเร็วแบบนี้แหละ ด้วยเหตุนี้คุณทักษิณ มาอาศัยอยู่ในกัมพูชาไปเลยดีกว่า แล้วให้โทรทัศน์มาบันทึกภาพนำเสนอไปทั่วประเทศกันไปเลย”

นอกจากนี้สมเด็จฮุน เซน ได้ขอบคุณองค์กรภาคประชาชนกัมพูชาและพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาได้วิจารณ์ฮุน เซน แต่ในตอนนี้ได้ให้การสนับสนุนต่อความเคลื่อนไหวของฮุน เซน ตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศกัมพูชามีแนวความคิดต่อนโยบายป้องกันประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน แต่จิตใจรักชาติของพวกเรามีเหมือน ๆ กัน

สมเด็จฮุน เซน ยังได้ฝากไปยังรัฐบาลไทยว่า ถ้าคุณกล้าทำอีก ฮุน เซน ก็กล้าทำต่อ เพราะยังอยู่ที่ชายแดนอีก 2 วัน สมเด็จฮุน เซน กล่าวว่า สงครามชี้เป็นชี้ตายในประเทศไทยกำลังจะมาถึงแล้ว นี่เป็นผลจากความไม่มีสัจจะของคุณ ไม่เพียงแต่ไม่มีสัจจะกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังไม่มีสัจจะภายในประเทศชาติของคุณอีกด้วย แล้วจะเป็นผู้นำได้หรือ?

แหล่งที่มา รัศมีกัมพูชา (เรียะเซม็ยกัมปุเจีย)
ชายเหนียง ณ เสียมเรียบนคร

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ใครคือ คิมฟุ๊ค ? (Ai là Kim Phúc?)

ผมคิดว่าหลายๆคนคงชอบเหมือนผม การจ้องจอคอมพิวเตอร์ ลูกกะตาแลซ้ายย้ายไปขวา ไปมา ส่วนนิ้วมือก็สัมผัสแป้นพิมพ์ ไปเรื่อยๆ การท่องโลกกว้างทางโลกอินเตอร์เน็ตยามค่ำคืน นี้มันแสนจะสุขีเสียนี่กระไร เสมือนการออกจากห้องแคบๆไปสู่ที่ที่เราต้องการจะไป อยากรู้อะไร ก็เข้า Google ใช่หรือเปล่าครับ?


ในความที่ตนเองชอบเปิดโลกอินเตอร์เน็ตยามดึก เมื่อตะกี๊ ไปเจอเมล์ฟอเวิร์ด มีคนส่งภาพอันน่ากลัว จากสงครามมาให้ ซึ่งผมเองก็พอรู้อยู่ว่าภาพเด็กสาวในอีเมล์นั้นคือใคร เลือนๆลางๆมาเหมือนเคยเห็นมาบ้างแล้ว แต่มาวันนี้เกิดความสนใจในตัวเธอ และเกิดคำถามว่า เธอคือใคร ทำไมเธอถึงมาวิ่งร้องให้แก้ผ้าล่อนจ้อนอย่างในภาพด้านล่างนี้ จึงทำให้ผมไปค้นหาข้อมูลในเน็ต เพื่อมาเล่าสู่กันฟังครับ

  เขาว่ากันว่าภาพข้างล่างนี้เป็นภาพที่ได้รับรางวัลและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพของเด็กสาวเวียดนาม ที่ชื่อ ฟานถิคิมฟุ๊ก (PHAN THỊ KIM PHÚC) ตอนที่เธออายุ 9 ขวบ เวียดนามกำลังเผชิญปัญหาสงคราม ระเบิดนาปามหล่นลงมาจากฟ้าดั่งสายฝน หมู่บ้านที่เธออยู่อาศัย ราบคาบเป็นหน้ากลอง กำลังทำลายล้างจากระเบิดนาปาม ทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนผู้ที่รักษาลมหายใจให้ตนเองนั้นรอดมาได้ จิตใจนี้คงไม่ต้องบรรยายความโหดร้ายของสงคราม ว่าสร้างความบอบช้ำให้ใจขนาดไหน แน่นอนความทรงจำจะต้องตราตรึงภาพอันโหดร้ายทารุณไว้มิอาจลืมเลือน

ในภาพเราเห็นเธอกำลังวิ่งอยู่กลางถนน หลังจากที่ไอร้อนของระเบิดนาปามได้ลวกหลังเธอจนพุพอง จากแผลที่พุพองนั้น เราคงจินตนาการได้ว่าแผลพุพองมันสร้างความเจ็บปวด ปวดแสบปวดร้อนมากเท่าไร เธอร้องเสียงดังลั่นเพื่อขอความช่วยเหลือจากผู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้น เธอไม่มีเสื้อผ้า วิ่งมาด้วยความหวาดกลัว จนขวัญหนีดีฝ่อ


ภาพนี้ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ถ่ายเมื่อปี 1972 เด็กสาวที่วิ่งอยู่โดยไร้ซึ่งเสื้อผ้านั้น เธอคือ คิมฟุ๊ก ตอนยังเด็ก ขณะที่หมู่บ้านกำลังถูกระเบิดนาปามถล่มหมู่บ้าน ภาพจาก http://blindflaneur.com/


คนที่ถ่ายภาพนี้มาได้คือ นักข่าวภาคสนาม ชื่อนิ๊ก อุ๊ด (Nick Út) ( สำนักข่าว AP) เป็นคนถ่ายภาพเก็บเอาไว้ได้และรับรางวัลระดับนานาชาติมามากมาย อย่างเช่น รางวัล Pulitzer และรางวัล Sigma Delta Chi, George Polk Memorial (1972), Overseas Press Club, National Press Club, The Lucie, Associated Press Managing Editors. และภาพดังกล่าวได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียว่า จัดลำดับอยู่ในอันดับที่ 41 ใน 100 ภาพที่น่าสนใจที่สุดในศตวรรษที่ 20


ภาพนี้ มันแสดงถึงความโหดร้ายของน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน จะว่าไปแล้วผมก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไม้ทำไม คนเราทำไม ต้องอยากสร้างสันติภาพด้วยสงครามกันนักก็ไม่รู้ ที่สุดของสงครามมีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย……..



                                                        ภาพ Nick Ut  จาก:http://newsimg.bbc.co.uk

อย่างไรก็ตาม ในสงครามเวียดนามครั้งนั้นไทยเราได้ส่งทหารออกแนวหน้าในสมรภูมิรบเวียดนามด้วย อยู่ดีดีเราก็ต้องเสียเลือดเสียเนื้อแถมโปรโมชั่นลมหายใจทหารไทยไปสังเวยสงครามไปประมาณ 1,351 นาย (ประมาณนี้นะครับ) แม้ว่าจำนวนทหารไทยจะเอาชีวิตไปทิ้งไม่มากเท่ากับทหารในชาติอื่นๆแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีอะไรเลย สำหรับพันธมิตรหลักที่ช่วยสนับสนุนเวียดนามใต้อย่างสหรัฐก็ต้องสูญเสียไปไม่น้อยเลย คำนวณโดยประมาณ ตาย 58,159 สูญหาย 2,000 บาดเจ็บ 303,635 ส่วนฝ่ายเวียดนามเหนือก็สูญเสียไม่แพ้กันมีพลเรือนเวียดนามเหนือตายประมาณ 3,000,000 ชีวิต




  ภาพผลงานของ Nich Ut จาก: http://news.bbc.co.uk

ความกระหายในสงครามของแต่ละฝ่ายไม่อาจจะหยุดยั้งได้ในผืนแผ่นดินเวียดนาม มองย้อนกลับไป จากสงครามในอดีต ไม่ว่าจะเป็นจีน ฝรั่งเศส สหรัฐ หรือแม้กระทั่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ลาว และกัมพูชา สุดท้าย ที่น่าสลดใจคือแต่ละประเทศก็ย่อยยับเสียหายไม่แพ้กัน เวียดนามกับสหรัฐอเมริกาอันนี้ทำให้เกิดการต่อต้านและกล่าวขานไปทั่วโลก สาเหตุที่เกิดสงครามเวียดนามนี้ ว่ากันว่ามีปัจจัยหลักๆอยู่ 2 ข้อ ซึ่งฝ่ายเวียดนามเหนือมองว่า เราต้องยอมสละเลือดสละเนื้อเพื่อรวมประเทศ ส่วนฝ่ายสหรัฐและพันธมิตรบอกว่า ทฤษฎีโดมิโน (สหรัฐอเมริกา) ทั้งสองฝ่ายก็ประชันกันไป ในที่สุด ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ สนธิสัญญาสันติภาพเพื่อให้ทหารอเมริกาถอนทัพใน ค.ศ. 1973 ชัยชนะของเวียดนามเหนือเวียดนามใต้สิ้นสภาพประเทศและการรวมชาติเวียดนาม และที่สุดคือความพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร

คิมฟุ๊ค เป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่รอดมาจากเหตุการณ์อันน่ากลัวครั้งนั้นได้และมีภาพของเธอถูกบันทึกเก็บไว้ และเธอถูกผู้เก็บภาพถ่ายนั้นเดินทางมาเวียดนามเพื่อตามหา ในปี 1982 มี ผู้สื่อข่าวอาวุโสชื่อ เตย ดึ๊ก ได้สืบหาเด็กสาวในภาพ ซึ่งภาพนี้เป็นภาพที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก


รัฐบาลเวียดนามส่งคิมฟุ๊กไปรักษาบาดแผลที่เกิดมาจากแรงระเบิดนาปาม ทีประเทศคิวบา คิมฟุ๊กเล่าให้ฟังว่า ในวันที่เข้ารับการรักษานั้นเป็นวันทีเจ็บปวดและทรมาณอย่างมาก แต่ก็ต้องอดทนรักษาเพื่อให้บาดแผลดีขึ้น รักษาแผลนั้นเป็นเวลา 14 เดือน ในการรักษาครั้งนั้นคิดว่าตัวเองจะทนความเจ็บปวดไม่ไหว หลายครั้งที่คิดว่าตัวเองจะหมดลมหายใจไป แต่ว่าความเข้มแข็งในใจของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ช่วยให้ข้ามผ่านจุดนั้นมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ



ภาพจาก : http://news.bbc.co.uk

คิมฟุ๊ก ไม่ชอบที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกสอบปากคำและถ่ายรูป ดังนั้นในปี 1986 พอมีโอกาสได้เข้าศึกษาต่อที่ประเทศคิวบา นางตอบรับคำเชิญในทันที ด้วยทุนของรัฐบาลเวียดนามทำให้นางได้ไปศึกษาต่อด้านเภสัชศาสตร์ที่ประเทศคิวบา พอไปศึกษาที่นั่นนางได้พบกับสามีของนาง ชื่อว่า บุ่ย ฮุย ตว่าน (Bùi Huy Toàn) ซึ่งเป็นนักศึกษาภาควิชาแพทย์ศาสตร์

หลังจากดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ที่กรุงมอสโคว ในปี 1992 เมื่อเครื่องกำลังลงจอดเติมน้ำมัน ณ Newfoundland ประเทศแคนาดา เพื่อรอการเดินทางต่อ ทั้งสองก็สามีภรรยาก็หนีลงจากเครื่องและขอลี้ภัยทางการเมืองกับรัฐบาลแคนาดา

นับตั้งแต่ปี 2006 ขณะที่เธออายุได้ 43 ปี ก็กลายเป็นทูตขององค์การยูเนสโก เธอยังเป็นผู้ก่อตั้ง กวี๋ กิม (Kim Foundation) เป็นองค์กรที่ต่อตั้งเพื่อการสงเคราะห์ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ประเทศแคนาดา โดยเป้าหมายในการตั้งขึ้นมาเพื่อ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจกสงคราม เมื่อวันที่ 23 เดือน ตุลาคม เดือน กันยายน 2006 เธอได้ เธอได้ก่อตั้งองค์กร YWCA (สรหัฐอเมริกา) ซึ่งเธอได้รับการนับถือว่าเป็นหนึ่งใน 6 ของผู้หญิงที่ช่วยเหลือสังคมที่โดเด่นในสมาคมและเธอได้รับรางวัล “ ความสำเร็จที่สุดแห่งปี” เป็นการบันทึกผลงานของเธอในสมาคม หนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในสงคราม ปัจจุบันนางอาศัยอยู่ที่ แอนแทรีโอ แคนาดาพร้อมกับสามีและลูกอีก 2 คน

ที่มา : Daohieu  

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
http://www.oknation.net/blog/Le-Petit-Prince/2009/06/19/entry-1
http://www.tlcthai.com/club/view_topic.php?club=freeblogdecorate&club_id=1199&table_id=1&cate_id=1132&post_id=10175


วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

เหวียน เติ๋น สุง (Nguyen Tan Dung)



           เหวียน เติ๋น สุง (Nguyen Tan Dung) เกิดเมื่อวันที่ 17 เดือนพฤศจิกายน ปี 1949 จังหวัดก่าเมา (Ca Mau) ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ท่านได้รับเลือกจากสภาแห่งชาติให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งชาติเวียดนาม นับตั้งแต่วันที 27 เดือนมิถุนายน ปี 2006  หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีฟาน วัน ขาย (Phan Van Khai) ตัดสินใจขอเกษียณก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่ง  หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี ลาออก ท่านได้เสนอชื่อ นาย เหงียน เติ๋น สุง ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 เดือนกรกฎาคม ปี 2007    เหงียน เติ๋น สุง เป็นผู้นำระดับสูงคนแรกของเวียดนามที่เกิดในรุ่นหลังจากการปฏิวัติเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1945  อีกทั้งได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่มีอายุ 57 ปี ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุด ในบรรดานายกรัฐมนตรีของเวียดนาม


ภาพจาก :www.hca.org.vn

เหวียน เติ๋น สุง มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัด ก่า เมา บริเวณภาคใต้ของเวียดนาม เมื่ออายุครบ 12 ปี (17 พฤศจิกายน 1961) หนุ่มน้อยเหงียน เติ๋น สุง ได้เข้าร่วมกับกองทัพประชาชนเวียดนาม ซึงในสมัยนั้นเป็นยุคที่หนุ่มสาวชาวเวียดนามนั้นต้องแสดงความรักชาติ และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการปกป้องชาติ เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมกับกองทัพแล้ว หน่มสุงได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านเอกสาร การติดต่อประสานงาน เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และท่านยังเป็นบุรุษพยาบาลอีกด้วย หลังจากที่หน้มน้อยคนนี้ปฏิบัติภารกิจในกองทัพมาเป็นเวลานานพอสมควร ท่านมีโอกาสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางทหารมากมาย จากระดับชั้นยศผู้น้อยคอยไต่และขยับขึ้นไปตามเวลาบวกความรู้และความสามารถ ในตอนแรกท่านได้รับตำแหน่งผู้บังคับหมู่ (ว่ากันว่าตำแหน่งเทียบเท่านายทหารชั้นยศ จ่าสิบเอกบ้านเรา) มาเป็นผู้บังคับกองร้อย ในชั้นยศ ร้อยเอก ร้อยโท และท่านยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารศัลยแพทย์ นอกจากนั้นยังเป็นประธานสมาชิกฝ่ายการเมืองในกองแพทย์ทหารเวชกรรม สังกัดหน่วยทหารจังหวัดแส็ก สา (Rach gia) ท่านเริ่มเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานเวียดนาม(Dang Lao Dong Viet Nam)ตอนอายุ 17 ปี (วันที่ 10 มิถุนายน 1967)และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เดือนมีนาคม 1968



ภาพจาก: topnews.in

            ท่านเป็นทหารผ่านศึกในระดับขั้นที่ 2 ขณะนั้นชั้นยศทางการทหารอยู่ที่ร้อยโท เหวียน เติ๋น สุง ขออุทิศตนเพื่อปฏิบัติภารกิจในกองทัพประชาชนเวียดนามอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 1975 ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งชั้นยศร้อยเอก เป็นผู้บังคับการฝ่ายการเมืองของกองพันทหารบกที่ 152 และท่านยังดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบัญชาการกองทหารหน่วยจังหวัดเกียน ซาง (Kien Giang)


             นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ 1981 ท่านได้ปลดประจำการ หลังจากนั้นท่านเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยการลงเล่นการเมืองท้องถิ่นและได้รับตำแหน่งต่างๆ อาทิ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนจังหวัดเกียน ซาง รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนจังหวัด สมาชิกคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนจังหวัด เลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์อำเภอห่า เตียน (Ha Tien) รองเลขาธิการและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนจังหวัดเกียน ซาง ประธานคณะกรรมการประชาชนส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนจังหวัดเกียน ซาง เป็นต้น

          ในเดือนมกราคม ค.ศ 1995 เหวียน เติน สุง เริ่มลงเล่นการเมืองระดับชาติ โดยท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความมั่นคงภายใน (Bo Noi Vu) (มกราคม 1995-พฤษภาคม ค.ศ 1996) และท่านยังดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ในกระทรวงมหาดไทย ได้คัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 6 (ค.ศ 1986) และประชุมพรรคฯ ครั้งที่ 7 (ค.ศ 1991) อีกทั้งท่านยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโปลิทบูโร ( Politburo) และสมาชิกประจำคณะกรรมการโปลิทบูโร ครั้งที่ 8 นอกจากนั้น ท่านยังเป็นประธานฝ่ายเศรษฐกิจส่วนกลางของพรรคฯ ซึ่งมีหน้าที่ ดูแลฝ่ายการเงินของพรรคตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ 1996 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ 1997



ภาพจาก :http://www.nciec.gov.vn
      
 ในเดือนกันยายน ค.ศ 1997 ท่านรับเลือกให้เข้ามาเป็นสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 10 หลังจากนั้น สภาประชาชนเวียดนามมีมติ ให้ท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น อดีตนายกรัฐมนตรี ฟาน วัน ขาย (Phan Van Khai) เสนอชื่อแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการ นโยบายการคลังของรัฐบาลและในเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1998 มีมติจากสภาฯ ให้ นาย เหวียน เติน ซุง ควบไปกับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเวียดนาม โดยท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเวียดนามเป็นระยะเวลา 12 ปี ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อปี ค.ศ 1999 รัฐสภามีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นาย เล ดึ๊ก ถุย (Le Duc Thuy) ขึ้นรักษาการตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเวียดนาม




ภาพจาก: http://www.longan.gov.vn

     
   ในเดือนสิงหาคม ค.ศ 2002 ในการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 11 มีมติลงให้ เหวียน เติ๋น สุง ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ต่อจากนั้น ในวันที่ 16 เดือนพฤษภาคม ค.ศ 2006 ฟาน วัน ขาย ได้เสนอชื่อไปยังที่ประชุมสภาฯ ครั้งที่ 11 ให้ นาย เหวียน เติน สุง ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี และในวันที่ 27 เดือนมิถุนายน ค.ศ 2006 เหวียน เติน สุง ได้ที่รับการคัดเลือกจากคะแนนเสียงจากสภาฯ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศสาธารณารัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2007 ในการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 12 ท่านได้รับคะแนนเสียงให้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปด้วยคะแนนเสียงถึงร้อยละ 96.96

        ลักษณะพิเศษของเหวียน เติ๋น สุง ที่มีความแตกต่างไปจากนายกรัฐมนตรีของเวียดนามคนอื่นๆ คือ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเวียดนามที่มีอายุน้อยที่สุดในบรรดาผู้ที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศสาธารณารัฐสังคมนิยมเวียดนาม ท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเวียดนามที่ได้เข้าพบพระสันตะปาปา และท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสาธารณารัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ถูกฟ้องร้องคดี

กิจกรรมและนโยบาย

นาย เหวียน เติน สุง ได้ประสบความสำเร็จทางด้านการทูต ภายใน 5 เดือนหลังจากที่ท่านเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้ประสบความสำเร็จในวาระแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการจัดการประชุมเอเปก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ 2006 และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ 2007 วารสาร โลกธุรกิจ (World Business) ลงคะแนนเสียงให้ท่านเป็นคน 1 ใน 20 คนที่ได้ชื่อว่า เป็นนักปฏิรูปแห่งเอเชีย ในขณะที่ท่านอยู่ในวาระการ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้นำพาประเทศเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก WTO และหลังจากนั้น เวียดนามได้เป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ 2008-2009




ภาพจาก: http://media.lookatvietnam.com


        เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ 2009 เหวียน เติน สุง ได้ลงนามในข้อตกลงของโครงการอนุมัติลงทุนหมายเลข 650/TTg-KTN ออกแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการขุดเจาะแร่บ็อกไซด์ในเขตภาคตะวันตกของเวียดนาม ซึ่งเป็นโครงการที่ถูกนายพลชั้นผู้ใหญ่ในเวียดนาม และนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศต่อต้าน การตัดสินใจดังกล่าวสร้างประเด็นในการถกเถียงค่อนข้างมาก โดยหนังสือพิมพ์ Financial Times กล่าวว่า เป็นโครงการที่แสดงออกถึงแนวคิดที่พึ่งพาประเทศจีนของเวียดนาม นอกจากนั้นยังเป็นของขวัญจากเวียดนามเพื่อมอบให้แก่จีน

        ในวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกตกต่ำในปี ค.ศ 2008-2009 อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามพุ่งสูงที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาค นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยงบที่อัดฉีดดังกล่าวก็ยังมีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไป มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เม็ดเงินมาไม่ถึงโครงการที่ได้วางแผนไว้ ไม่กระตุ้นภาคธุรกิจด้านอื่นให้กระเตื้องขึ้น นอกจากภาคธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้งบประมาณแผ่นดินของเวียดนามลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับ 5% ในปี ค.ศ 2008

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง เหวียน เติน สุง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

- ด้านการทูต: เวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกและความสำเร็จของการประชุม APEC 2006

- คดีคอรัปชั่นระดับประเทศ: หลายคดี เช่น คดี PMU 18 โครงการ 112 การมอบเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่ PCI และ คดีเงิน Polymer

- ทางด้านเศรษฐกิจ: อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามพุ่งสูงที่สุดในปี ค.ศ 2008 การอภิปรายเกี่ยวกับการผูกขาดและการควบคุมกลุ่มธุรกิจภาครัฐ เช่น กลุ่มบริษัทการไฟฟ้าแห่งประเทศเวียดนาม โครงการขุดเจาะแร่บ็อกไซด์ ในภาคตะวันตกของเวียดนาม

นโยบาย

- ออกมาตรการในการควบคุมสื่อและกำหนดกฏระเบียบในการลดการแทรกแซงของภาคเอกชนต่อวงการสื่อสารมวลชน อีกทั้งออกมาตรการไม่ให้หน่วยงานหรือบุคคลใดใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์

- ผลักดันให้รัฐบาลเป็น E-รัฐบาล (E-government) และเป็นรัฐบาลที่โปร่งใส



ภาพจาก : http://images.vietnamnet.vn/

ครอบครัว

เหวียน เตินสุง และนาง เหวียน แท็ง เฝื่อง (Nguyen Thanh Phuong) มีบุตรด้วยกัน 3 คน ภรรยาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด นาง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเศรษฐกิจแห่งชาติที่กรุงฮานอย และ MBA ที่มหาวิทยาลัย Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออายุ 27 ปี นางเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทบริการด้านการเงินโดยมีทุนจดทะเบียนบริษัทที่ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ้างคำกล่าวของนาย จอร์ท บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า งานพบปะในการประชุม APEC 2006 ตามสำนักข่าวบีบีซี กลางกรุงฮานอยว่า บรรดาบุตรของ นาย เหวียน เติน สุง กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯและมีคนหึ่งได้แต่งงานกับชาวอเมริกัน คนหนึ่งที่มีเชื้อสายเวียดนาม แต่ในการให้คำสัมภาษณ์สด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ 2007 นาย เหวียน เติน สุง ได้ปฏิเสธในข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า เป็นข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยเขามีลูกชายเพียงคนเดียวที่เคยเรียนปริญญาเอกที่ประเทศสหรัฐฯ บุตรสาวของเขาขณะนั้นยังไม่ได้แต่งงาน อีกทั้งยังไม่เคยเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐฯ แต่อย่างใด

    ที่มา :วิกิพิเดีย เวียดนาม



ภาพจาก: http://files.myopera.com

รายการบล็อกของฉัน